คณะภคินีรักกางเขน แห่งท่าแร่

ประวัติโดยสังเขปของคณะภคินีรักกางเขน แห่งท่าแร่

      ประวัติศาสตร์ของคณะรักไม้กางเขนได้เกิดขึ้น เมื่อพระสังฆราชปีแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อตต์ ธรรมทูตชาวฝรั่งเศสผู้ร่วมก่อตั้งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P)  ที่สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อส่งมาปกครองมิสซังโคชินจีน (เวียดนาม) ได้ตั้งคณะรักไม้กางเขน และมอบพระวินัยแรก 14 มาตรา ให้คณะรักไม้กางเขนทั้ง 3 แห่ง  ในเวลาที่ต่อเนื่องตามลำดับ คือ ในปี ค.ศ. 1670/2213 ที่ตังเกี๋ย (เวียดนามเหนือ) ปี ค.ศ. 1671/2214 ที่โคชินจีน (เวียดนามใต้) และในปี ค.ศ. 1672/2215 ที่อยุธยา (สยาม)

สมาชิกรุ่นแรกเริ่ม ค.ศ.1924-1939

      วันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1679/2222 พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 ทรงรับรองสถาบันรักไม้กางเขนและทุกหมู่คณะของสตรีรักไม้กางเขนที่พระสังฆราชได้ตั้งหรือที่จะจัดตั้งขึ้นในเอเชีย

     “คณะรักไม้กางเขนแห่งท่าแร่” ได้ถือกำเนิดมาโดย คุณพ่อยอแซฟ กอมบูรีเออ พระสงฆ์คณะมิสซัง ต่างประเทศแห่งกรุงปารีส เป็นผู้สืบสานปณิธานของพระสังฆราช ปีแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อตต์ เพื่อตอบสนองความต้องการของพระศาสนจักรท้องถิ่น

      วันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1885/2428 คุณพ่อยอแซฟ เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาพรหมมีคาแอล ท่าแร่  โดยคุณพ่อได้อุทิศตนในงานธรรมทูตด้วยใจร้อนรน และได้ก่อตั้งหมู่บ้านคาทอลิกเพิ่มอีก 4 แห่ง ทำให้ภารกิจของคุณพ่อเพิ่มมากขึ้น คุณพ่อต้องการหญิงสาวที่อุทิศตนเพื่อช่วยงานพระสงฆ์ในการอภิบาล ดังนั้นในปี ค.ศ.1922/2465 คุณพ่อได้ปรึกษาพระสังฆราชอังเยโล มารีย์ แกวง ถึงเรื่องการตั้งคณะรักไม้กางเขน ท่าแร่ พระสังฆราชเห็นด้วยและให้การสนับสนุน  คุณพ่อได้รวบรวมหญิงสาวที่ประสงค์จะอุทิศตน  มีผู้สมัครรุ่นแรก จำนวน 6 คน และคุณพ่อได้ส่งหญิงสาวเหล่านั้นไปรับการฝึกอบรมที่อารามรักไม้กางเขนแห่งเชียงหวาง ประเทศลาว

     เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1923/2466 รับผู้ฝึกหัดกลับมาท่าแร่ โดยคณะรักไม้กางเขนแห่งเชียงหวาง ได้ให้คุณแม่ยุสตา มารีอา เปี่ยม มาเป็นนวกจารย์และอธิการิณี หลังจากนั้นได้มีหญิงสาวมาสมัครเข้ารับการอบรมเพิ่มมากขึ้น  คุณพ่อจึงได้ขออนุญาตพระสังฆราช อังเยโล มารีย์ แกวง ก่อตั้งอารามภคินีรักไม้กางเขน ท่าแร่

         ในวันที่ 1 มกราคม ค.. 1924/2467 พระสังฆราช อังเยโล มารีย์ แกวง ผู้ปกครองมิสซังลาวในขณะนั้น ได้อนุมัติให้ตั้งคณะรักไม้กางเขน ท่าแร่ ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยคุณแม่ยุสตา มารีอา เปี่ยม   เป็นอธิการิณีคณะ  คุณพ่อยอแซฟ กอมบูรีเออ ผู้ก่อตั้งคณะรักไม้กางเขน เป็นจิตตาธิการของคณะ และดำรงตำแหน่งนี้เรื่อยมาจนกระทั่งคุณพ่อได้คืนชีวิตแด่พระผู้เป็นเจ้า  

         ปี ค.ศ. 1928/2471 พระสังฆราชอังเยโล มารีย์ แกวง ประกาศใช้พระวินัยอย่างเป็นทางการ โดยอาศัยธรรมนูญของคณะรักไม้กางเขนแห่งไซง่อน ประเทศเวียดนาม

         ปี ค.ศ. 1931/2474 คุณพ่อยอแซฟ กอมบูรีเออ เริ่มส่งภคินีไปช่วยงานอภิบาลตามวัดต่าง ๆ โดย ส่งไปประจำที่วัดพระตรีเอกภาพบ้านช้างมิ่ง เป็นวัดแรก (15 ม.ค. 1931) วัดนักบุญกาทารีนา บ้านทุ่งมน(11 พ.ค. 1931 ) เป็นวัดที่ 2 และวัดต่าง ๆ ในเขต สังฆมณฑล ท่าแร่ที่คณะได้ดำเนินงานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

         ปี ค.ศ. 1940/2483 เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 และกรณีพิพาทอินโดจีน ซึ่งมีการเบียดเบียนศาสนาคริสต์อย่างรุนแรงในเขตจังหวัดสกลนคร-นครพนม ส่งผลให้พระสังฆราชและบรรดาพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสถูกขับไล่ออกจากประเทศไทย ในช่วงสงครามนี้ทำให้เกิดมรณสักขี แห่งบ้านสองคอน ซึ่งในจำนวนนี้มีภคินี 2 ท่านคือ ภคินี อักเนส พิลา และ ภคินี ลูซีอา คำบาง สังกัดคณะรักกางเขนแห่งเชียงหวางในปัจจุบัน

          วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1940/2483 ทางราชการได้สั่งให้ปิดวัด  อาราม ดังนั้นบรรดาภคินีถูกบังคับให้กลับไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาของตน โดยใส่ชุดฆราวาส

         ปี ค.ศ. 1941/2484 คุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล ซึ่งดูแลมิสซังลาวแทนพระสังฆราช ได้นัดภคินีเพื่อรื้อฟื้นคำปฏิญาณ ภคินีแต่งชุดนักบวชไปสวดที่หลุมศพคุณพ่อยอแซฟ ตำรวจเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืน  จึงขู่และด่าว่า ภคินีต้องหลบหนีตำรวจจึงไม่มีใครได้รื้อฟื้นคำปฏิญาณ

ภาพต้นฉบับ: ภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่
ภาพต้นฉบับ: ภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่
ภาพต้นฉบับ: ภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่
ภาพต้นฉบับ: ภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่
อารามหลังแรก แห่งท่าแร่

     ปี ค.ศ. 1944/2487 การเบียดเบียนศาสนาที่ท่าแร่ได้ยุติลง วันที่ 26 มีนาคม คุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล ได้ให้ภคินีที่ไปช่วยงานในเขตอุบลราชธานีกลับมาท่าแร่  20 คน

         วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1944 / 2487 ทางราชการได้คืนวัด  อาราม ให้มิสซัง ภคินี 15 คน กลับเข้าอาราม และสานต่อพันธกิจของคณะจนถึงปัจจุบัน

         ต่อมาในปี ค.ศ. 1963/2506 ในสมัยปกครองของพระสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ท่านได้ช่วยปรับปรุงแก้ไขธรรมนูญของคณะจนได้รับการรับรอง และประกาศใช้จากสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อว่าเป็นธรรมนูญที่ถูกต้องตามกฎหมายพระศาสจักร และคณะได้เปลี่ยนชื่อจากเดิมคณะรักไม้กางเขนแห่ง ท่าแร่  เป็นคณะภคินีรักกางเขนแห่ง ท่าแร่ จนถึงปัจจุบัน

         ในปี ค.ศ 2002/2545 คณะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์รักกางเขนแห่งประเทศไทยและลาว (ประกอบด้วยคณะภคินีรักกางเขนแห่งจันทบุรี  อุบลราชธานี  เชียงหวาง สปป.ลาว และท่าแร่)

         คณะภคินีรักกางเขนแห่ง ท่าแร่ สังกัด อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เป็นคณะที่ มุ่งงานอภิบาลและแพร่ธรรม บรรดาภคินีปฏิญาณตนถือตามคำแนะนำแห่งพระวรสาร ด้วยการดำเนินชีวิตตามคำปฏิญาณเป็นหมู่คณะภายใต้อำนาจการปกครอง ของพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล และพยายามทำงานเพื่อการกลับใจของบรรดาพี่น้องต่างความเชื่อ และบรรดาคริสตชนที่มีใจห่างเหินจากพระองค์ (ธรรมนูญคณะ มาตรา 3 หน้า 13)

        พระพรพิเศษของคณะฯ คือ ภาวนา พลีกรรม และกระทำพันธกิจ เพื่อพัฒนา สตรี เด็ก เยาวชนทั้งฝ่าย กายและจิตใจ โดยร่วมมือกับพระศาสนจักรท้องถิ่นด้วยพระธรรมล้ำลึกแห่งกางเขน(ธรรมนูญมาตรา 4 หน้า 13)

         จิตตารมณ์ของคณะฯ  คือ  ยึดพระเยซูคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนเป็นศูนย์กลางในการดำเนินชีวิต โดยเพียรพยายามที่จะตายต่อตัวเองและเสียสละตนด้วยความรัก ทั้งในชีวิตแห่งการภาวนา และการปฏิบัติตามพันธกิจของคณะ (ธรรมนูญคณะ มาตรา 5 หน้า 14)

         ภารกิจของคณะฯ  คือ การร่วมงานกับสังฆมณฑลด้านอภิบาล แพร่ธรรมตามวัด และหน่วยงานต่างๆ  งานด้านการศึกษาอบรมในโรงเรียน งานรักษาพยาบาลผู้ป่วย งานวิถีชุมชนคริสตชนพื้นฐาน (BEC) และงานสงเคราะห์ / พัฒนา

         ปัจจุบันคณะยังคงดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของผู้สถาปนาสถาบันรักไม้กางเขนในเอเชียและผู้ก่อตั้ง คณะภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่ โดยทำงานอยู่ใน 4 สังฆมณฑล ได้แก่ อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง อัครสังฆมณฑลกรุงเทพมหานคร  สังฆมณฑลอุดรธานี และสังฆมณฑลเชียงใหม่

         ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 92 คน ปฏิญาณตนตลอดชีพ 81 คน ปฏิญาณตนชั่วคราว 11 คน โนวิส 3 คน        โปสตุลันต์ 6 คน ผู้ฝึกหัดเยาวเณรี ระดับชั้น ม.1–6 จำนวน 57 คน ฆราวาสรักกางเขน 285 คน